367/5 หมู่ 4 ต.พรานกระต่าย อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร 62110
จันทร์ - ศุกร์ | 08:30 น. - 15:30 น.

ฝ่ายวิชาการ

ฝ่ายวิชาการ มีหน้าที่ในการพัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มุ่งพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนสู่มาตรฐานคุณภาพระดับสากล มีคุณธรรมจริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยมีรายละเอียดของภาระงานและความรับผิดชอบ ดังนี้

  • บริหารงานหลักสูตรและงานวิชาการ เพื่อนำนโยบาย แผนปฏิบัติงานไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
  • ศึกษาวิเคราะห์เอกสารหลักสูตร และข้อมูลที่ดำเนินการต่อการพัฒนาหลักสูตร
  • จัดทำโครงสร้างของหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  • พัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับเนื้อหา
  • พัฒนาระบบการสอนให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับผู้เรียน
  • ปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครู อันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้เรียน
  • ส่งเสริมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้และบรรยากาศการเรียนรู้
  • ส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ
  • ดำเนินการเกี่ยวกับงานวัดผลและประเมินผลการเรียนตามระเบียบว่าด้วยการวัดผลประเมินผล การเรียนและตามแนวปฏิบัติของสถานศึกษา
  • รวบรวมผลการเรียนทุกรายวิชาของนักเรียน และบันทึกผลในแบบรายงานการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นรายบุคคล (ปพ.6)

E-School โรงเรียนในอนาคต

แนวคิด

   ผู้จัดทำมีแนวคิดที่จะนำพาโรงเรียนเข้าสู่โรงเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic School) ที่มีจุดเด่นในด้านการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา (ICT for Education) จึงได้จัดสร้างระบบที่มีชื่อว่า eSchool ขึ้น เพื่อบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศของโรงเรียนให้เป็นศูนย์รวมเดียว (Data Center) ลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล เพิ่มสภาพคล่องในการใช้งานข้อมูลสารสนเทศของโรงเรียนให้มีความถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ

   ความสำเร็จสู่ E-School ของโรงเรียนในอนาคต จะต้องได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์ (Hardware) และโปรแกรม (Software) เพียงพอในระดับหนึ่ง มีเครือข่ายส่งเสริม สนับสนุนและมีสื่อดิจิตอล สำหรับการเริ่มต้นดำเนินการสู่ความสำเร็จได้ตามความคาดหวังที่กำหนด

การบริหารจัดการ ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้โรงเรียนประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด จึงนำเสนอแนวทางสู่ความสำเร็จไว้ ดังนี้

  1. การบริหารจัดการระบบ ICT ในโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนการบริหารจัดการด้าน ICT ไว้ชัดเจน มีการดำเนินการตามแผน และติดตามผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
    • มีการกำหนดนโยบายด้าน ICT ของโรงเรียนไว้อย่างชัดเจน
    • มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการพัฒนาระบบ ICT ของโรงเรียน มอบหมายภาระหน้าที่ความรับผิดชอบแก่คณะกรรมการหรือบุคคลที่มีความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนา ICT เป็นอย่างดี
    • มีการกำกับ ดูแล ให้ขวัญกำลังใจ สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานของคณะกรรมการ และ/หรือบุคลากรที่ปฏิบัติงานพัฒนาระบบ ICT ของโรงเรียน มีการใช้ Hardware, Software และสื่อได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตามกรอบนโยบายที่กำหนด
    • ตรวจสอบประเมินผลการดำเนินงาน ที่เกิดผลจริงจังตามภาพความสำเร็จ คือ
      • โรงเรียนมีระบบการบริหารจัดการงานในโรงเรียนที่ดี
      • การพัฒนาโปรแกรมที่เอื้อต่อการเรียนการสอน เช่น E-Learning , E-Library
      • โรงเรียนมีเว็บไซต์สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน และแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูในโรงเรียน
  2. การบริหารจัดการด้านบุคลากร (ครูผู้สอน)
    • ผู้บริหารโรงเรียนมีแผนการพัฒนาครู เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถในการใช้ ICT ในการจัดการเรียนการสอนอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง
    • มีการกำกับ ดูแลให้ขวัญกำลังใจ ส่งเสริม สนับสนุนให้ครูได้ใช้สื่อ ICT จัดการเรียนการสอนในทุกระดับ ทุกคน ตามความสามารถและความเหมาะสม
    • ส่งเสริม สนับสนุนให้ครูมีการวัดและพัฒนาสื่อด้าน ICT ตลอดจนการวิจัยสื่อการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
    • มีการจัดสัมมนาปฏิรูปการใช้ ICT ในการจัดการเรียนรู้ การศึกษาดูงานด้าน ICT เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครู เป็นการเพิ่มศักยภาพของครูอีกทางหนึ่งด้วย
  3. การบริหารจัดการด้านนักเรียน
    • ผู้บริหารโรงเรียน มีแผนการส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้ ICT เพื่อการเรียนรู้ทุกระดับ ทุกคน เพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ และนำเสนองานได้อย่างสร้างสรรค์และมั่นใจ
    • กำหนดหลักการ และวิธีดำเนินการให้นักเรียนได้ถือปฏิบัติในการเรียนรู้ เช่น การใช้ E-Library การสืบค้นข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การส่งงาน และการนำเสนองานโดยมี ICT เป็นเครื่องมือช่วยในการปฏิบัติงาน เป็นต้น
  4. การประเมินผล และการสรุปผลด้านความสำเร็จ
        ผู้บริหาร จำเป็นต้องให้มีการประเมินผลความสำเร็จของการดำเนินการในทุกๆ ด้าน เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจพัฒนาต่อเนื่อง จนเกิดผลเป็นโรงเรียนชั้นดีตามทิศทาง และภาพความสำเร็จที่กำหนดร่วมกัน แนวทางการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการให้โรงเรียนก้าวไปสู่ความสำเร็จเป็น E-School นี้ เป็นทางเลือกในการพิจารณานำไปเป็นรูปแบบการบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ผู้บริหารโรงเรียน อาจใช้กลยุทธ์การบริหารและประสบการณ์ด้านการบริหารอื่นๆ เป็นแนวทางการบริหารสู่ความสำเร็จได้ตามความเหมาะสม สำหรับหลักการ ทฤษฎีและเนื้อหาสาระ ตลอดจนวิธีการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบ ICT และการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ ICT ที่จะนำเสนอในตอนต่อไปนั้น เป็นหลักการ ทฤษฎี และเนื้อหาโดยละเอียดและซับซ้อน ในบางเรื่อง ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานด้าน ICT หรือศึกษาเพิ่มเติม จึงจะเข้าใจได้โดยง่าย ผู้บริหารโรงเรียนอาจใช้เวลาศึกษาเพิ่มเติม หรือมอบหมายผู้เกี่ยวข้องได้ศึกษา ทำความเข้าใจ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาโรงเรียนให้เป็น E-School ต่อไป

อ้างอิงเนื้อหาจาก: อภิชาต พุทธเจริญ